จนท.สหรัฐฯ เร่งสืบ โรคปริศนาคร่าชีวิตน้องหมาแล้วหลายสิบศพในรัฐมิชิแกน

สัตว์เลี้ยง

เจ้าหน้าที่ในรัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ กำลังพยายามระบุชนิดของโรคที่คร่าชีวิตสุนัขไปแล้วหลายสิบตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา สงสัยอาจเป็นเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐมิชิแกน ของสหรัฐฯ กำลังพยายามหาสาเหตุของโรคปริศนาที่ทำให้สุนัขตายไปแล้วมากกว่า 20 ตัวในเขตออตเซโก เคาน์ตี เพียงแห่งเดียว โดยสุนัขที่ป่วยมักตายภายในไม่กี่วัน หลังจากมีอาการ อาเจียน, ถ่ายเป็นเลือด, เซื่องซึม และไม่อยากอาหาร

ขณะที่ นายเขตแคลร์ เคาน์ตี มีสุนัขตายไปมากกว่า 30 ตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีรายงานเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันอีกในพื้นที่ทางเหนือและตอนกลางของมิชิแกน

สมาคมสัตวแพทย์อเมริกันระบุว่า อาการป่วยดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (canine parvovirus) ซึ่งมีอัตราการติดต่อสูง และพบมากในหมู่สุนัขที่ไม่ได้รับวัคซีนและลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 4 เดือน

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงว่าพาร์โวไวรัสเป็นต้นเหตุหรือไม่ โดยสุนัขหลายตัวที่ป่วยในออตเซโก เคาน์ตี และแคลร์ เคาน์ตี มีผลตรวจเชื้อพาร์โวไวรัสเป็นลบ ขณะที่ตัวอย่างแรกๆ ที่ส่งไปให้ห้องปฏิบัติการวินิจฉัยด้านสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน กลับมีผลตรวจออกมาเป็นบวก

ด้านศูนย์พักพิงสัตว์เขตออตเซโก เคาน์ตี ในเมืองเกย์ลอร์ด ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า สุนัขที่ติดเชื้อในเขตของพวกเขามักมีอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือแก่ชราไปเลย และไม่มีสุนัขที่ตายตัวใดได้รับวัคซีนอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ พาร์โวไวรัสในสุนัขติดต่อจากสุนัขสู่สุนัข รวมถึงจาอุจจาระหรือสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อน ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดฆ่าไวรัสในสุนัขที่ติดเชื้อได้ วิธีรักษาจึงต้องมุ่งเน้นที่การสนับสนุนระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการแทนที่ แร่ธาตและสารละลายในร่างกาย, โปรตีน และของเหลวที่เสียไป เพื่อให้ภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัส

อัตราการรอดชีวิตจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสอาจสูงถึง 90% หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่การเสียชีวิตมักเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 48-72 ชั่วโมงเท่านั้น หลังเริ่มแสดงอาการ